Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ > จีนมอง “ไท่กั๋ว” อย่างไร

จีนมอง “ไท่กั๋ว” อย่างไร

พิมพ์ PDF

โดย ดร.อักษรศรี (อติสุธาโภชน์) พานิชสาส์น

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คอลัมน์ “มองจีนมองไทย” กรุงเทพธุรกิจ หน้า 12 วันที่ 26 เมษายน 2555

โค้ด แท้จริงแล้ว จีนมองไทยอย่างไร ไทยอยู่ในสถานะอะไรในสายตาจีน และที่สำคัญ เมื่อวิเคราะห์นัยและอ่านใจฝ่ายจีนได้แล้ว รัฐบาลไทยควรจะบริหารจัดการความสัมพันธ์กับจีนอย่างไร เพื่อให้สมศักดิ์ศรีไทยแลนด์แดนสยามของเรา

 

เมื่อวันที่ 17-19 เมษายนที่ผ่านมา ดิฉันได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปกับคณะรัฐบาลและภาคธุรกิจไทย เพื่อเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการ ณ กรุงปักกิ่ง และมหานครเทียนจิน ในบรรยากาศที่แสนคึกคักและชื่นมื่น ซึ่งนับเป็นอีกครั้งที่มีการ“ยกคณะใหญ่”ของไทยไปเยือนจีน มีทั้งนายกรัฐมนตรี นักการเมืองระดับรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยฯ อีกร่วม 10 คน รวมไปถึงข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำและภาคเอกชน รวมทั้งสิ้นเกือบ 200 คน มีทั้งกลุ่มที่เดินทางไปล่วงหน้าเพื่อเตรียมงานและกลุ่มที่เดินทางไปกับเที่ยวบินพิเศษพร้อมนายกรัฐมนตรี

คณะผู้ร่วมเดินทางระดับบิ๊กจากไทยจำนวนไม่น้อยที่ดิฉันได้พูดคุยด้วยบนเที่ยวบินพิเศษที่ไปด้วยกันต่างมองว่า จีนเป็นตลาดใหญ่และเป็นโอกาสทองทางด้านเศรษฐกิจสำหรับไทย โดยเฉพาะหลายคนรู้สึกตื่นเต้นกับการผงาดขึ้นของจีนจนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกในเวลาอันรวดเร็ว

แม้จะดีใจที่ภาครัฐและเอกชนไทยต่างตื่นตัวหันมาให้ความสำคัญและสนใจคบหาสมาคมและคบค้ากับจีนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งสื่อไทยต่างก็ประโคมข่าวผลการเดินทางไปเยือนจีนของรัฐบาลไทยในครั้งนี้ อย่างไรก็ดี ในฐานะนักวิชาการไทยที่เกาะติดพัฒนาการความสัมพันธ์เศรษฐกิจไทย-จีนมานาน และติดตามผลการเดินทางไปเยือนจีนของรัฐบาลไทยมาหลายยุคหลายสมัย ดิฉันมีข้อคิดเห็นบางประการค่ะ

บทความในวันนี้ จึงจะขอเน้นให้ข้อสังเกตสิ่งที่น่าจะสะท้อน สถานะของไทย ในสายตาจีน โดยวิเคราะห์จากท่าทีและคำกล่าวของผู้นำฝ่ายจีนในการเรียก“ไท่กั๋ว” (Tai Guo) หรือ ประเทศไทย รวมทั้งเนื้อหาที่สื่อต่างๆ ของจีนนำเสนอข่าวการเดินทางไปเยือนจีนของนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยในครั้งนี้

สิ่งแรกที่น่าสังเกต ในการต้อนรับผู้มาเยือนจากไทยรอบนี้ นายกรัฐมนตรีของจีนไม่ได้เรียกประเทศไทยว่า “มิตรเก่าแก่” หรือ เหล่าเผิงโหย่ว แต่กลับใช้คำเรียกว่า “มิตรที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้” (a trusted friend ) ทำให้ดิฉันต้องสะดุดกับคำเรียกนี้ และอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า เหตุใดฝ่ายจีนต้องย้ำและแสดงให้เห็นว่า การเป็นแค่เพื่อนเฉยๆ หรือเพื่อนที่คบหากันมายาวนาน กลับไม่เพียงพอสำหรับจีนในบรรยากาศการเมืองภูมิภาคในขณะนี้ แต่จะต้องเป็น “เพื่อนที่ (จีน) เชื่อใจได้” ด้วยค่ะ

แม้ดิฉันจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์และไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ฝ่ายจีนต้องการจะสะท้อนอะไรในการเรียกไทยเช่นนี้ เพราะดูเสมือนว่า จีนกำลังจะแยกจัดประเภทออกเป็นกลุ่ม “มิตรที่เชื่อใจได้” และ “มิตรที่เชื่อใจไม่ได้” เช่นนั้นหรือ

ที่สำคัญ บ่อยครั้งของการเอ่ยถึงประเทศไทย ฝ่ายจีนจะไม่หยุดเพียงแค่เมืองไทยของเรา แต่จะพูดครอบคลุมไปถึงกลุ่มอาเซียนเสมอ จีนมักจะมองไทยในฐานะเป็นเพียง 1 ใน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนเสมอ นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมว่า ในขณะนี้ บางประเทศในกลุ่มอาเซียนกำลังมีปัญหากรณีพิพาทในทะเลจีนใต้กับฝ่ายจีน โดยเฉพาะเวียดนามและฟิลิปปินส์มีการออกมาประท้วงและแสดงท่าทีไม่พอใจจีนอย่างชัดเจน ดังนั้น ในบรรดา 10 ประเทศอาเซียน จีนย่อมมีทั้งมิตรที่เชื่อใจได้และเชื่อใจไม่ได้

แต่การที่ผู้นำจีนมาเน้นเอ่ยคำเรียกประเทศไทยเช่นนี้ จะเป็นเพราะฝ่ายจีนต้องการตอกย้ำสถานะของไทยในสายตาจีนและพยายาม “ตีกัน” โดยจับให้ไทยเข้าไปอยู่ในกลุ่มมิตรในอาเซียนที่จีนเชื่อใจได้ใช่หรือไม่ รัฐบาลไทยจึงควรจะต้องนำเรื่องนี้ไปคิดและพิจารณาต่ออย่างรอบคอบด้วยว่า แล้วไทยเราควรจะวางตัวและมีท่าทีอย่างไร โดยเฉพาะท่าทีของไทยที่จะมีต่อเพื่อนอาเซียนอีกหลายประเทศ ซึ่งยังคงมีปัญหาในทะเลจีนใต้กับพี่เบิ้มจีนในขณะนี้ ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญและน่าจะมีนัยบางอย่าง จึงต้องขอฝากให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศช่วยนำไปวิเคราะห์ในเชิงลึกต่อไปด้วยนะคะ

ข้อสังเกตอีกด้าน ในขณะที่ สื่อไทยเน้นนำเสนอข่าวผลการเยือนด้านเศรษฐกิจ และสารพัดความตกลงและความร่วมมือไทย-จีน เช่น มีการลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน 8 ฉบับ และการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างเอกชนไทย/สมาคมธุรกิจไทย กับเอกชน/รัฐวิสาหกิจจีนในด้านต่างๆ อีก 9 ฉบับ เป็นต้น อย่างไรก็ดี สื่อของจีนกลับไม่ได้เน้นผลการเยือนด้านเศรษฐกิจมากนัก แต่หันไปให้น้ำหนักและพูดถึงประเด็นอื่นๆ ที่ไม่ใช่เศรษฐกิจ เช่น การนำเสนอข่าวปัญหาการสังหารชาวจีนในแม่น้ำโขงจนทำให้มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยทหารไทย 9 ราย การนำเสนอภาพข่าวปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในไทยจนนายกฯ ไทยต้องเลื่อนการเดินทางเยือนจีนในเดือนธันวาคมปีก่อนและฝ่ายจีนต้องหยิบยื่นให้ความช่วยเหลือไทยจากมหาอุทกภัยครั้งนี้ และข่าวปัญหาความแตกแยกของการเมืองไทยที่มีการแบ่งกลุ่มแบ่งสีต่างๆ รวมไปถึงประเด็นท่าทีของนายกฯ ไทยต่อปัญหาทะเลจีนใต้ เป็นต้น

ดังนั้น มุมมองของจีนต่อไทยจึงไม่ใช่เฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจที่สำคัญเป็นอันดับแรก ซึ่งไม่น่าแปลกใจนะคะ เพราะแท้จริงแล้ว ไทยยังไม่ใช่คู่ค้าหลักของจีนและสัดส่วนการค้ากับไทยยังคงน้อยมากเมื่อเทียบกับการค้ารวมของจีนทั้งหมด และในด้านการลงทุน ไทยก็ไม่ใช่นักลงทุนหลักที่เข้าไปลงทุนในจีน ในทางกลับกัน ไทยก็ไม่ได้เป็นประเทศที่นักลงทุนจีนออกไปตั้งฐานลงทุนมากอันดับต้นๆ เมื่อเทียบกับประเทศทั่วโลกด้วย

สำหรับข้อสังเกตประการสุดท้าย และไม่ควรมองข้าม เพราะในช่วง 2 คืน 3 วันที่คอยติดตามการนำเสนอข่าวของสื่อจีนต่างๆ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ และสื่อโทรทัศน์ ดิฉันต้องสะดุดและสะดุ้งกับภาพข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์จีนชื่อดัง และอาจจะเป็นอีกสื่อหนึ่งที่สะท้อนได้ว่า จีนมอง “ไท่กั๋ว”อย่างไร

หนังสือพิมพ์ China Daily ฉบับวันพุธที่ 18 เมษายน 2012 ได้นำเสนอข่าวการเยือนจีนครั้งนี้ โดยมีภาพของผู้นำทั้งสองประเทศ ทั้งนายกรัฐมนตรีจีนและนายกรัฐมนตรีไทย แม้จะมีภาพนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรที่ดูสวยเด่นจากการเป็นผู้นำหญิงไทยที่ใส่ชุดประจำชาติของจีน และยังคงชูภาพลักษณ์ความงามของการเป็นนายกรัฐมนตรีที่สาวและสวยที่สุดในโลกได้อย่างเหนียวแน่น แต่มุมมองท่วงท่าและตำแหน่งในภาพของผู้นำทั้งสองคนที่ปรากฏอยู่บนปกหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ระดับชาติของจีนฉบับนี้ กลับดูจะเป็นรูปภาพที่ไม่น่าจะปกตินักในสายตาของดิฉัน

โดยทั่วไปแล้ว ในการนำเสนอข่าวการเยือนระดับประเทศ มักจะเป็นภาพผู้นำทั้งสองประเทศที่มีการจับมือ การนั่ง การยืน หรือการเดินเคียงคู่ในระดับเดียวกันหรือเทียบเท่ากัน แต่ในครั้งนี้ หนังสือพิมพ์จีนชื่อดังกลับเลือกที่จะนำภาพของการเดินนำและเชิดหน้าแบบมุ่งมั่นของนายกรัฐมนตรีจีน โดยที่มีนายกฯ สาวงามของไทยกำลังย่างก้าวเดินตามเยื้องๆ อยู่ข้างหลังแถมด้วยรอยยิ้มกริ่มชายตาเหลียวมองนายกฯ จีนด้วยนะคะ

เสียดายเนื้อที่หมดพอดี จีงขอฝากเป็นการบ้านให้ไปช่วยกันลองคิดดูว่า ภาพนี้สะท้อนอะไร แท้จริงแล้ว จีนมองไทยอย่างไร ไทยอยู่ในสถานะอะไรในสายตาจีน และที่สำคัญ เมื่อวิเคราะห์นัยและอ่านใจฝ่ายจีนได้แล้ว รัฐบาลไทยควรจะบริหารจัดการความสัมพันธ์กับจีนอย่างไร เพื่อให้สมศักดิ์ศรีไทยแลนด์แดนสยามของเรา และสุดท้าย ดิฉันหวังว่า ไทยคงจะไม่โดนจีนปรับสถานะจาก “มิตรที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้” กลายเป็น “มิตรที่ (จีน) สั่งการได้” นะคะ

 
Home > Articles > สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ > จีนมอง “ไท่กั๋ว” อย่างไร

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5608
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8618568

facebook

Twitter


บทความเก่า